ยักษ์ใหญ่ค้าปลีก “ตื่น” CPALL – MAKRO ปลดล็อกข่าวร้าย

เรื่องที่น่าสนใจ เศรษฐกิจ (ในประเทศ - ต่างประเทศ)

ยอมรับเลยว่าหุ้นในกลุ่มค้าปลีกปรับตัวขึ้นช้า กลุ่มหุ้นท่องเที่ยวแม้จะได้รับอานิสงส์ดีจากการเปิดเมือง – เปิดประเทศ รวมไปถึงสถานการณ์โควิด-19 ได้จบลงแล้วหลังภาคการท่องเที่ยวในประเทศ และต่างประเทศคึกคักไปด้วยการเดินทางจนแน่นสนามบิน และสายการบิน

ยักษ์ใหญ่ในกลุ่มค้าปลีกที่ราคาหุ้นเจอปัจจัยลบอย่างต่อเนื่อง บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) จากราคาหุ้นสิ้นปี 2564 ปิดที่ 59 บาท ราคาล่าสุด (11 ต.ค.65) อยู่ที่ 55.00 บาท ลดลง 6.77 % และบริษัท สยาม แม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO จากราคาหุ้นสิ้นปี 2564 ปิดที่ 42.00 บาท ราคาล่าสุด (11 ต.ค. 65) อยู่ที่ 34.25 บาท ลดลง 18.45 %

เรียกได้ว่าราคาหุ้นสวนทางกับกลุ่มสนามบิน -โรงแรม-ห้าง หรือสายการบิน ที่ทำราคานิวไฮในรอบเกือบ 3 ปีไปแล้ว ด้วยปัจจัยที่กระทบหนักคือ ค่าใช้จ่ายที่ปรับตัวสูงขึ้น และความกังวลด้านเศรษฐกิจถดถอย

ทั้งปัญหา เงินเฟ้อ ของไทยเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่เดือนพ.ค. – ส.ค. กดดันเม็ดเงินในกระเป๋าผู้บริโภคลดลงอย่างชัดเจนทำให้แม้จะเห็นการฟื้นตัวของยอดขายต่อสาขาเดิม (SSSG) แต่ยังไม่กลับไปเท่าก่อนโควิด

ตามมาด้วย ต้นทุนค่าแรง หลังครม.อนุมัติปรับค่าแรงขั้นต่ำมีผลเดือนต.ค. ครอบคลุม 77 จังหวัด ทั่วประเทศ ที่อัตรา 8-22 บาทต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นต่ำสุดอยู่ที่ 328 บาทต่อวัน และเพิ่มขึ้นสูงสุดอยู่ที่ 354 บาทต่อวัน ซึ่งทั้ง CPALL ซึ่งถือลงทุนโลตัส และ MAKRO ธุรกิจที่พึ่งพาแรงงานจำนวนมาก

จากต้นทุนค่าแรงตามต่อด้วยต้นทุนสาธารณูปโภคอย่าง ค่าไฟฟ้าปรับขึ้น หลัง กกพ. เคาะตัวเลขค่าไฟฟ้าปรับขึ้นรอบใหม่ตั้งแต่เดือนก.ย.2565 ผ่านอัตราค่าไฟฟ้าฝันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวดเดือนก.ย.- ธ.ค.2565 เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 68.66 สตางค์ต่อหน่วย เนื่องจากเป็นต้นทุนที่แท้จริงตามราคาเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่ปรับสูงขึ้น และเมื่อรวมกับค่า Ft งวดปัจจุบัน (พ.ค. – ส.ค.2565) ที่เก็บอยู่ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย

ส่งผลให้ค่า Ft โดยรวมในเดือนก.ย.- ธ.ค. 2565 มาอยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย และเมื่อนำมารวมกับค่าไฟฟ้าฐานประมาณ 3.79 บาทต่อหน่วย จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าโดยรวมที่ประชาชนต้องจ่าย 4.72 บาทต่อหน่วย เพิ่มขึ้นจากงวดเดือนพ.ค.- ส.ค.2565 ที่ประชาชนจ่าย 4 บาทต่อหน่วย

นอกจากนี้ปัจจัยเฉพาะบริษัท CPALL ที่มีภาระต้นทุนการซื้อ “โลตัส” ในไทย และมาเลเซียมูลค่า 338,445 ล้านบาท ปี 2563 ตามต้นทุนการเงิน ปี 2565 ต้องรับรู้ดอกเบี้ยไตรมาส ละเกือบ 4,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นทำให้เกิดเป็นปัจจัยลบต่อภาระทางการเงินเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ยักษ์ใหญ่ค้าปลีก “ตื่น” CPALL – MAKRO ปลดล็อกข่าวร้าย

ขณะที่ด้าน MAKRO ถือว่ามีแนวต้านต้องฝ่าด่านราคาหุ้นไปด้วยแรงซื้อมหาศาลที่ 43.50 บาท ซึ่งเป็นราคาเพิ่มทุนตั้งแต่ปลายปี 2564 จำนวน 1,300 ล้านบาท ซึ่งราคาเสนอขายคิดที่ระดับ P/E ประมาณ 43.86 เท่า และ EV/EBITDA ที่ 17.99 เท่า

บวกกับ MAKRO มีจำนวน ฟลีโฟลตในตลาดหุ้นค่อนข้างน้อย ณ มี.ค.2565 อยู่ที่ 13.53 % ซึ่งถือว่าเป็นหุ้นใหญ่แต่มีสภาพคล่องน้อย จำนวนหุ้นส่วนใหญ่อยู่ในมือกลุ่มซีพี และกองทุน-สถาบัน จึงทำให้ราคาหุ้นเคลื่อนไหวไม่ไปไหน จนมีกระแสข่าวว่าทางกลุ่มซีพีจะเพิ่มฟลีโฟลตในตลาดด้วยการขายหุ้นออกมาให้กองทุนเพิ่มจำนวนหุ้นในตลาดถึง 15 %

อย่างไรก็ตามปัจจัยบวกหุ้น CPALL-MAKRO เริ่มเพิ่มมากขึ้นทั้งการออกมายืนยันจากผู้บริหาร MAKRO ไม่เข้าประมูลซื้อธุรกิจค้าปลีก Metro ที่อินเดีย มูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์หรือ 37,000 ล้านบาท จากก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่ากลุ่ม ซีพี พิจารณาเข้าร่วมประมูลด้วยการนำ MAKRO เข้าซื้อด้วยราคาประมูลสูงสุด ทำให้เกิดความวิตกด้านภาระหนี้ และการเพิ่มทุนในอนาคต

อย่างไรก็ตามด้วยภาวะเศรษฐกิจที่แตกต่างกันของไทย – สหรัฐ หรือยุโรป ทำให้ปัจจัยเศรษฐกิจถดถอยยังไม่น่ากังวลเท่ากับปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทย ที่กระทบกำลังซื้อของประชาชน บวกกับความคาดหวังภาคท่องเที่ยวที่เห็นตัวนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยเฉลี่ยเดือนละ 1 ล้านราย ทำให้ปลายปีตัวเลขรวม 10 ล้านราย จึงมีความเป็นไปได้สูง

มองได้ว่า CPALL-MAKRO ถูกกดดันจนราคาหุ้นลงมาถึงจุดที่ต้องพิจารณาลงทุนเพื่อรองรับข่าวบวกในปี 2566 แล้วหรือยัง ..